Home > News & Update
News & Update
20.11.2019
Best of Architecture (Degree show 2019): นวัตกรรมการออกแบบเพื่อฟื้นฟูสวนตาล
อัญชิสา เสนาชัย บัณฑิตจากสถาปัตย์เกษตร คิดค้นนวัตกรรมการออกแบบเพื่อฟื้นฟูสวนตาล โดยบูรณาการองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรม เทคโนโลยีการเกษตร ภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้ากับการออกแบบสถาปัตยกรรม คว้ารางวัล Best of Architecture จากเวที Degree Shows 2019



ในจังหวัดเพชรบุรี พื้นที่สวนตาลเป็นทั้งแหล่งวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพื้นที่สร้างรายได้ให้เกษตรกร มีความสำคัญเสมือนศูนย์กลางของชุมชน แต่ปัจจุบันเกษตรกรผู้ทำตาลมีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ปริมาณพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดลดน้อยตามไปด้วย ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่ภูมิปัญญาการทำตาลโตนดจะเลือนหายไป

สาเหตุหลักของจำนวนเกษตรกรที่ลดลง ได้แก่ ขั้นตอนและระยะเวลาเก็บผลผลิตที่ใช้เวลานาน ไม่คุ้มกับผลผลิตที่ได้ในแต่ละวัน รวมทั้งความเสี่ยงที่ต้องปีนขึ้นไปเก็บผลด้วยมือทีละต้น แม้จะมีโครงการนำร่องจากทางภาครัฐในการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ตาลโตนดเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ภูมิปัญญา แต่ก็ยังติดปัญหาในเรื่องจำนวนคน ที่ต้องแบ่งมาให้ความรู้ ดูแลความปลอดภัย และสาธิตกิจกรรมต่างๆ ให้นักท่องเที่ยว ทำให้การดำเนินการล่าช้าลงไปอีก รวมไปถึงช่วงมรสุมที่จะมีน้ำท่วมขังเป็นเวลากว่า 3 เดือน เกษตรกรต้องพายเรือเก็บผลผลิต ทำให้ผลผลิตที่ได้ต่อวันลดลงกว่าครึ่ง

Architecture design degree show awards arch daily innovation

การหาข้อมูลและการวิเคราะห์ช่วงแรก คือการศึกษาลักษณะทางกายภาพของพื้นที่สวนตาลเดิม จาก Diagram การศึกษาเส้นทางการเก็บผลผลิตเดิมทั้ง 3 พื้นที่ และระยะทางของกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่การเก็บ ขนส่ง แปรรูป สาธิต นำส่งขาย นำไปสู่การออกแบบเพื่อวางตำแหน่งของ Harvesting Core (Tower) และตำแหน่งของอาคารแปรรูปที่อยู่กลางระหว่าง Tower ทั้งสาม เพื่อลดระยะทางจากการปีนขึ้นต้นตาลไปแปรรูปให้สั้นที่สุด

Architecture design awards innovation innovation arch daily degree show

การศึกษาลักษณะกายภาพของต้นตาล คือ ความสูง รายละเอียดแต่ละส่วน และการหาความเป็นไปได้ของรูปแบบของ Structure แทรกไปกับพื้นที่สวน โดยคำนึงถึงผลกระทบกับการเจริญเติบโตของต้นตาลเป็นหลัก ร่วมไปกับการออกแบบ Core System ที่จะสามารถทำให้เส้นทางการแปรรูปในทุกๆ กระบวนการ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบไปด้วย 3 Core หลัก คือ
  1. Harvesting Core (Tower ช่วยลดระยะทางการเก็บผลผลิตของเกษตรกรและส่งเสริมนักท่องเที่ยวให้ได้เห็นแต่ละส่วนของต้นตาลในระยะใกล้ขึ้นกว่าเดิม)
  2. Sugar Core (เตาเคี่ยวน้ำตาล เกิดพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่เคี่ยวของเกษตรกร และพื้นที่เรียนรู้ของนักท่องเที่ยว สามารถหันหน้าเข้าหากันเพื่อสาธิตได้ตามเวลาเคี่ยวตาลปกติ)
  3. Moving Core (รอก ที่ออกแบบให้เชื่อมกับพื้นที่แปรรูปทุกกระบวนการ ใช้ขนส่งวัตถุดิบ อุปกรณ์ เครื่องใช้ และสินค้า)
Architecture design awards innovation degree show thesis arch daily

โครงสร้างจะสามารถถอดประกอบได้ เผื่อเอาไว้สำหรับในอนาคตที่ต้องการขยายพื้นที่แปรรูป และเป็นโครงสร้างที่เข้าใจง่ายเพื่อให้เกษตรกรภายนอกสามารถนำไปทำตามได้ จึงเลือกใช้ Concept ของ Glulam Joint ออกมาเป็นโครงสร้างแบบ Unit 4 แบบที่เกิดจากพื้นที่ระหว่างต้นตาล 2 ต้น และ 4 ต้น การออกแบบโครงสร้าง Unit ดังกล่าว จะช่วยทำให้เกษตรกรไม่ต้องตัดต้นตาลเพื่อสร้างอาคารอีกต่อไป และยังสามารถปลูกต้นตาลเพิ่มขึ้นได้อีก 91 ต้นภายในพื้นที่สวน เป็นการสร้างผลผลิตที่มีมูลค่าในอนาคตได้
           
รายละเอียดการออกแบบส่วนอื่นๆ 
  • เครื่องมือสะพานเก็บผลผลิตระหว่างต้น วัสดุคือท่อเหล็กสีดำ มีแนวคิดมาจากวัสดุเดิมที่เกษตรกรมักนำเอามาเป็นโครง ออกแบบให้สามารถปรับระยะเพื่อลัดเข้าไปกับส่วนของกาบใบระยะ 13 เมตรจากพื้นดิน และนำสะพานเชือกมาเชื่อม สามารถเคลื่อนย้ายไปตามตำแหน่งของต้นตาลที่ให้น้ำตาล ที่มักจะเปลี่ยนไปในทุกๆ เดือน   
  • ลักษณะหลังคาเป็นแบบเอียง เพื่อปกป้องและนำลูกตาลร่วงลงไปบ่อบริเวณชั้นพื้นดิน ซึ่งเป็นพื้นที่การของคัดแยก นำไปแปรรูปในขั้นตอนถัดไปได้อย่างสะดวก
  • การออกแบบระนาบภายในโครงการ จะสัมพันธ์ไปกับการใช้งานและช่วงเวลาปกติกับเวลาน้ำท่วมขัง เช่น ใต้พื้นสามารถแขวนเรือ และช่องเก็บของ, บริเวณพื้นที่ workshop เคี่ยวน้ำตาล เก้าอี้นั่งรอบๆ สามารถปรับระดับเป็นโต๊ะได้ , เก้าอี้นั่งฟังบรรยายบริเวณใต้ถุน ออกแบบให้มีโครงแขวนเข้ากับคาน แทนการปูพื้นคอนกรีตซึ่งเป็นการทำลายหน้าดินของสวน
โครงการสถาปัตยกรรมเพื่อการฟื้นฟูการเกษตรด้วยนวัตกรรมการออกแบบบนพื้นที่สวนตาลนี้ เล็งเห็นต้นตอของการเกิดปัญหาทั้งหมด และต้องการเสนอแนวทางการแก้ไขด้วยองค์ความรู้ทางสถาปัตยกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บผลผลิต ทุ่นแรงของเกษตรกร จัดการกิจกรรมและกระบวนการแปรรูปผลผลิตในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ด้วยความหวังว่าผู้คนจะกลับมาทำอาชีพนี้และรักษาวัฒนธรรมตาลโตนดของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป