Home > News & Update
News & Update
01.12.2019
ต้นแบบบ้านพักอาศัยริมคลองสำหรับผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ
สถาปัตยกรรมเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนตามสภาวะแวดล้อม : การออกแบบบ้านพักอาศัยริมคลองต้นแบบสำหรับผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ (Responsive Architecture to Dynamic Environment: the prototypical design of low-income Waterfront Housing in Bangkok)
ผู้ออกแบบ: นาย สมพร เภรีพล 
สถานภาพปัจจุบัน : สถาปนิก
ผู้ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย รางวัลสาขาสถาปัตยกรรม Degree Shows 2019


จากสถาณการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปีพ.ศ.2554 ส่งผลให้รัฐบาลต้องหาวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมซ้ำอีก โดยหนึ่งในวิธีการป้องกันคือการสร้าง “โครงการบ้านประชารัฐ” เป็นโครงการรื้อถอนบ้านเรือนริมคลองออกแล้วสร้างเขื่อนเข็มตอกเพื่อขยายหน้าตัดคลองให้มีความกว้างเพียงพอต่อการระบายน้ำสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยจะเกิดขึ้นกับคลอง 9 แห่งทั่วกรุงเทพฯ เมื่อลงไปสำรวจพื้นที่จึงพบว่าบ้านที่สร้างขึ้น ถูกสร้างมาจากแบบบ้านมาตรฐานเพียงไม่กี่แบบ ส่งผลให้เกิดภูมิทัศน์ที่ซ้ำกันตลอดริมคลอง และเขื่อนเข็มตอกที่ใช้ในการขยายหน้าตัดคลองก็ทำลายระบบนิเวศน์ริมตลิ่ง อีกทั้งรูปทรงที่ตั้งฉากของตลิ่งคอนกรีตยังตัดขาดวิถีชีวิตของคนกับคลองออกจากกัน จากเหตุผลที่กล่าวมาจึงจำเป็นต้องหาวิธีการออกแบบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหา
คลองตัวอย่างที่ใช้ในการออกแบบคือคลองบางซื่อ เพราะเป็นคลองที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียจากการทำหน้าที่เป็นคลองตัดน้ำ(คลองที่มีหน้าที่เป็นทางลัดน้ำจากคลองภายในสู่แม่น้ำเจ้าพระยา)ในฤดูน้ำหลาก และมีปัญหาน้ำมีความเข้มข้นสูงในฤดูน้ำแล้ง จึงเหมาะที่จะใช้เป็นคลองนำร่องของโครงการการออกแบบแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่เขื่อนและพื้นที่บ้าน 

รางวัล ออกแบบ สถาปัตย์ เกษตร สถาปัตยกรรม เรียน Texas dek64 degree shows รางวัล ออกแบบ สถาปัตย์ เกษตร สถาปัตยกรรม เรียน Texas dek64 degree shows
 
พื้นที่เขื่อน เริ่มจากแบ่งพื้นที่ตลิ่งออกเป็นส่วนๆตามการเข้าถึงของระดับน้ำในแต่ละช่วงของปี เพราะการเข้าถึงของน้ำส่งผลให้ศักยภาพของดินแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกัน จากการทำงานร่วมกับกับศูนย์วิจัยปฐพีและฐานราก ทราบว่าตลิ่งริมคลองบางซื่อสามารถตั้งอยู่ได้โดยการสร้างความชันหน้าดินให้อยู่ในอัตราส่วน 1:9 จึงนำระยะความชันนี้ไปวางไว้ในระดับที่น้ำสามารถท่วมถึงได้ตลอดทั้งปี เพื่อให้พื้นที่ส่วนนี้กลายเป็นชายเฟือย(Riparian Zone) เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์  โดยพืชก็จะทำหน้าที่ยึดหน้าดินและเป็นเสมือนตัวกรองธรรมชาติที่กันขยะ จากตัวบ้านลงสู่คลองสาธารณะ โดยพื้นที่ส่วนถัดไปด้านหลังขุดเป็นบ่อเพื่อสำรองน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยการขุดแบ่งเป็นสองบ่อคือบ่อพักน้ำและบ่อน้ำที่บำบัดแล้ว ซึ่งจะเชื่อมกับส่วนบำบัดน้ำต่อไป

รางวัล ออกแบบ สถาปัตย์ เกษตร สถาปัตยกรรม เรียน Texas dek64 degree shows

บ้าน จากปัญหาการใช้แบบบ้านมาตรฐานมาใช้ในการสร้างบ้านส่งผลให้บ้านไม่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคนในชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและทำให้เกิดการซ้ำกันของภูมิทัศน์ จึงได้นำแนวคิดของ Incremental Architecture มาใช้ในการออกแบบบ้าน เพราะเป็นการสร้างสถาปัตยกรรมเพียงบางส่วนเพื่อให้มีพื้นที่เหลือให้ผู้อยู่อาศัยสามารถต่อเติมบ้านของตัวเองได้เองตามลักษณะที่ต้องการ ในเวลาที่ต้องการ ทำให้สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้อยู่เอง ช่วยลดงบประมาณในการก่อสร้างของรัฐบาล และทำให้รูปด้านของอาคารที่จะปรากฏริมคลองมีความเฉพาะที่ไปตามวิถีชีวิตของแต่ละชุมชน

รางวัล ออกแบบ สถาปัตย์ เกษตร สถาปัตยกรรม เรียน Texas dek64 degree shows

ในท้ายที่สุดการออกแบบในครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมสามารถทำหน้าที่ได้มากว่าตอบสนองผู้ใช้งานในพื้นที่ แต่ยังสร้างประโยชน์แก่เมืองไปพร้อมกันได้ โดยสถาปัตยกรรมจะเติบโตไปพร้อมกับระบบนิเวศน์ ที่เป็นพื้นที่บริการสาธารณะที่ช่วยเยียวยาสภาวะแวดล้อมของเมือง โดยยังคำนึงความเป็นอยู่ของคน คลอง และสิ่งแวดล้อมสรรสร้างไปพร้อมกัน