Home > News & Update
News & Update
04.12.2019
แนวทางการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่เน้นผู้คนเป็นศูนย์กลาง (PNC19-Asian Regional Course on People-Centred Approaches to Conservation of Nature and Culture)
มรดกโลก อบรม อนุรักษ์ world heritage nature culture PNC

อาจารย์ปฏิพล ยอดสุรางค์ อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวัทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เข้าร่วมการฝึกอบรม Asian Regional Course on People-Centred Approaches to Conservation of Nature and Culture (PNC19) ที่จัดขึ้นโดยสภาการอนุรักษ์และบูรณปฏิสังขรณ์มรดกทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ (ICCROM) และ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ร่วมกับ Sri Lankan Department of Archaeology, the Sri Lankan Central Cultural Fund, the Cultural Heritage Administration of Korea, the Norwegian Ministry of Climate and Environment, ICOMOS, และ UNESCO World Heritage Centre ระหว่างวันที่ 20-30 พฤศจิกายน 2562 ณ เมืองดัลบูลา ประเทศศรีลังกา

การอบรมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่ที่พยายามปกป้องมรดกทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีผู้คนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยเน้นย้ำเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมจากระบบและการจัดการการคุ้มครองมรดกฯ ผู้เข้าร่วม 20 คน จาก 16 ประเทศ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติการจากหลากหลายสาขา ทั้งชาวต่างชาติและชาวศรีลังการรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกหลาย ๆ แห่ง ได้แก่ Gamini Wijesuriya, Tarek Abulhawa, George Abungu, Tim Badman, Nilan Cooray, Sarah Court, Rohit Jigyasu, Eugene Jo, Sook Jin Kim, Joseph King, Hong Li, Sumedha Mathota, Boon Nee Ng, Elena Osipova, Prasanna Ratnayake, Sudharshan Seneviratne เป็นต้น เพื่อที่จะค้นหาวิธีการที่จะคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและมรดกทางธรรมชาติ ด้วยวิธีที่หลากหลายจากกรณีศึกษาเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกฯ โดยมีผู้คน/ชุมชนเป็นศูนย์กลางและตระหนักถึง Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นเป้าหมายสำคัญ

การบรรยายประกอบด้วยกรอบทฤษฎีและกรณีศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนร่วมในกระบวนการมรดกโลก รวมทั้งกรณีศึกษาของผู้เข้าร่วมอบรม  แม้ว่าองค์ประกอบในการเรียนรู้บางส่วนจะเคยใช้ในการอบรมกับรุ่นที่ผ่านมา แต่ก็ได้พัฒนาโครงสร้างของหลักสูตรตามกรอบความรู้ของ World Heritage Leadership Programme สำหรับการจัดการมรดกโลก โดยประกอบด้วย 4 Module คือ
Module A: แหล่งมรดก คุณค่าและบริบท (Heritage place, its values and its context)
ใน Module แรกจะเน้นไปที่การทำความเข้าใจองค์ประกอบของแหล่งมรดกฯและการเชื่อมโยงกับบริบทที่กว้างขึ้น การอนุรักษ์แหล่งมรดกฯนั้นขึ้นอยู่กับการทำความเข้าใจแหล่งมรดกฯ ที่ต้องรวมถึงคุณค่าที่สำคัญทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่เกี่ยวข้อง, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ถือสิทธิ์, และบริบทของสถาบันและองค์กรเพื่อการอนุรักษ์ ความเข้าใจนี้เกินกว่าคำจำกัดความของขอบเขตของแหล่งมรดกฯ และเกินกว่าคำนิยามของคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Value-OUV) ที่กำหนดไว้ของแหล่งมรดกโลก Module นี้จะให้ความสำคัญอย่างมากับระบบการระบุตำแหน่งและแห่งหนของปัจจัยที่เป็น 'ผู้คน' ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการเป็นตัวแทนจากชุมชน สถาบันหรือแม้แต่ 'ผู้ใช้งานมรดกฯนั้น ๆ' (โดยเฉพาะในกรณีของระบบองค์ความรู้ดั้งเดิม) ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมในการสื่อความหมายของแหล่งและมีส่วนร่วมในการจัดการหรือแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นได้
Module B: การกำกับดูแลแหล่งมรดกฯ (Governance of the heritage place)
รูปแบบต่าง ๆ ของการกำกับดูแลแหล่งมรดกฯที่เป็นกระบวนการที่กำหนดอำนาจและความรับผิดชอบบนแหล่งและภูมิทัศน์ ประกอบด้วยการใช้สิทธิ วิธีการตัดสินใจ และผู้ถือสิทธิ์รวมทั้งผู้มีส่วนได้เสีย - รวมถึงผู้หญิง เด็ก ชนพื้นเมือง ชนกลุ่มน้อย ชุมชนท้องถิ่น ฯลฯ - สามารถเข้าถึง มีส่วนร่วม และได้รับผลกระทบจากการใช้และการจัดการแหล่งมรดกฯ
Module C: การดำเนินการจัดการแหล่งมรดก (Implementing management of the heritage place)
เครื่องมือและวิธีการในการจัดการการอนุรักษ์ที่ดี โดยอาศัยแนวทางปฏิบัติและการจัดการที่กำหนดเป็นยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ และที่สำคัญต้องเหมาะสมกับคุณค่าและผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกฯ สิ่งสำคัญคือการประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่มีผู้คนเป็นศูนย์กลางจะมีอิทธิพลต่อกระบวนการการจัดการมรดกฯอย่างไร โดยเริ่มจากระดับพื้นฐานคือตั้งแต่การรับรู้ถึงคุณค่าของมรดกฯ จนไปถึงการจัดการแหล่งในระดับชาติและนานาชาติ
Module D: ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับแหล่งมรดกและเพื่อสังคมโดยรวม (Good results for the heritage place, and for wider society)
ประโยชน์ที่การจัดการแหล่งมรดกฯที่ดีสามารถนำไปสู่การพัฒนาชุมชนผ่านการมีส่วนร่วม เช่น ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของ เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม จิตวิญญาณ โอกาสการจ้างงาน ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โอกาสทางการศึกษา การพักผ่อน นันทนาการการลดความเหลื่อมล้ำ บรรเทาความยากจน ฯลฯ ในทางกลับกันการมีผู้คนเป็นศูนย์กลางยังเป็นรูปแบบใหม่ของการมีส่วนร่วมจากภาคประชาสังคมรวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ให้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดการของแหล่งมรดกได้ ซึ่งผลประโยชน์เหล่านี้มักจะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี 

นอกจากนั้นยังประกอบด้วยการเยี่ยมชมแหล่งมรดกโลกที่สำคัญของประเทศศรีลังกา เช่น Sigiriya และ Dambula cave temple และการเยี่ยมชมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติที่สำคัญของศรีลังกา  ได้แก่ อ่างเก็บน้ำโบราณ Mineriya, อุทยานแห่งชาติ Kaudulla, อารามและภูเขา Ritigala, และ Kandalama Hotel ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกอบรมที่ใช้เป็นบทเรียนในการทำงานที่มีผู้คนและชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในแผนการจัดการและการประเมินคุณค่ามรดกฯ

การมีส่วนร่วมของผู้คนยังคงเป็นความท้าทายอย่างแท้จริง ซึ่งในหลาย ๆ พื้นที่การเชื่อมโยงมรดกทางธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรมยังมีอุปสรรคในทางปฏิบัติ เนื่องจากระบบการอนุรักษ์ในแง่ของสถาบันและกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมักถูกสร้างขึ้นแยกกันต่างหาก แม้ว่าความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในงานอนุรักษ์นั้นจะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ก็มีหลายกรณีที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจวิธีการที่น่าจะเป็นไปได้และสร้างแรงบันดาลใจในการปรับตัวให้กับแนวทางอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีกรอบเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมา ซึ่งสามารถนำมาใช้เพื่อให้แน่ใจว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล ในขณะที่ต้องรับมือกับภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การอบรมนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการและการอนุรักษ์เข้าด้วยกันเพื่อแบ่งปันประสบการณ์และเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นโอกาสที่มีค่าในการเรียนรู้แนวคิด-วิธีการใหม่ ๆ จากผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับนานาชาติอีกด้วย

ติดตามอ่านรายงานฉบับเต็มเร็ว ๆ นี้

ข้อมูลเพิ่มเติม: https://www.iccrom.org/news/connecting-people-nature-culture-sri-lanka-pnc19

......
AKU lecturer, Patiphol Yodsurang, PhD, participated in the Asian Regional Course on People-Centred Approaches to Conservation of Nature and Culture (PNC19), at Dambulla Area, Srilanka. 20 – 30 November 2019. Together with Sri Lankan & 20 foreign heritage professionals from 16 countries, have sought for a better practices of managing cultural and natural heritage in connectivity, that would benefit both the heritage and the sustainable development needs of society, implementing the Sustainable Development Goals and to understand the ways how natural and cultural heritage are being protected.

The course is organised by ICCROM, IUCN, the Sri Lankan Department of Archaeology, and the Sri Lankan Central Cultural Fund in partnership with the Cultural Heritage Administration of Korea, the Norwegian Ministry of Climate and Environment in collaboration with ICOMOS, and the UNESCO World Heritage Centre.

Full paper related to People-Centred Approaches to Conservation of Nature and Culture will be available soon.

For further information: https://www.iccrom.org/news/connecting-people-nature-culture-sri-lanka-pnc


มรดกโลก อบรม อนุรักษ์ world heritage nature culture PNC