Home > News & Update
News & Update
04.12.2019
สถาปัตยกรรมเพื่อการเรียนรู้และปฏิบัติการบนพื้นที่ระหว่างขุดค้นโบราณคดีเขาพระนารายณ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
Thesis architecture archeology design archdaily design Kasetsart University awards degree show

สถาปัตยกรรมเพื่อการเรียนรู้และปฏิบัติการบนพื้นที่ระหว่างขุดค้นโบราณคดีเขาพระนารายณ์ จังหวัดสุราษฏร์ธานี
1 ใน 14 ผู้ผ่านเข้ารอบ Live Presentations จากสาขา ARCHITECTURAL DESIGN จาก Degree show 2019

ตัวอย่างของงานสถาปัตยกรรมที่สามารถประสานกระบวนการขุดค้นทางโบราณคดีเข้ากับการออกแบบโครงสร้างและประโยชน์ใช้สอยทางสถาปัตยกรรม ผลงานนี้แสดงให้เห็นว่า แหล่งโบราณคดีที่ยังอยู่ในระหว่างขุดค้นนั้นสามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะได้ สถาปัตยกรรมไม่เพียงแต่จะส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยปกป้องและสงวนรักษาโบราณสถานให้มีความคงทนและอยู่ในสภาพที่ดี

โดย นายปรเมศวร์ ปรมะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

Thesis architecture archeology design archdaily design Kasetsart University awards degree show

การตั้งคำถามเพื่อนำไปสู่โจทย์ต่อการศึกษาพื้นที่ระหว่างขุดค้นโบราณคดี
แหล่งโบราณคดีเขาพระนารายณ์ อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี เป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญของการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในยุคศรีวิชัย มีการดำเนินการขุดค้นและบูรณะมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากจำนวนโบราณสถานมีมากถึง 20 แห่ง และพื้นที่ตั้งอยู่บนเขาพระนารายณ์และพื้นที่ราบรอบเขาทำให้ทำงานได้ลำบาก ปัจจุบัน พื้นที่บนภูเขาได้ขุดค้นและบูรณะเสร็จแล้ว ส่วนพื้นที่ราบรอบเขาทางทิศตะวันตกที่ยังขุดค้นไม่เสร็จนั้นมีแผนจะดำเนินงานต่อไปอีก 10 ปี ทำให้แหล่งโบราณคดีนี้ยังไม่สามารถเปิดให้เข้าชมและพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ได้ ดังนั้น วิทยานิพนธ์นี้จึงตั้งคำถามว่าเราจะสามารถพัฒนาแหล่งโบราณคดีที่ยังดำเนินการอยู่นี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ไปพร้อมๆกับการปฏิบัติการขุดค้นทางโบราณคดีนี้อย่างต่อเนื่องได้อย่างไร จากการสำรวจและวิเคราะห์ที่ตั้งทำให้ทราบว่าพื้นที่โบราณสถานบางส่วนจะประสบปัญหาน้ำท่วมขังในฤดูฝน เนื่องจากคลองเดิมที่เคยเป็นทางระบายน้ำของพื้นที่นั้นหายไป อีกทั้งความลาดชันของภูเขาที่ส่งผลให้เกิดปัญหาดินไถลและน้ำหลากลงมายังพื้นที่ที่ราบด้านล่าง นอกจากนี้ ยังพบว่าสิ่งก่อสร้างปกคลุมโบราณสถานที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นไม่ตอบรับกับสภาพพื้นที่ที่มีความชันและไม่ส่งเสริมให้เกิดการปกป้องและสงวนรักษาโบราณสถานที่ดีดังนั้น วิทยานิพนธ์นี้จึงกำหนดโจทย์ของการออกแบบสถาปัตยกรรมไว้ 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การสร้างสถาปัตยกรรมที่สามารถช่วยส่งเสริมกระบวนเรียนรู้และเพิ่มอรรถรสไปพร้อมกับกระบวนการขุดทางโบราณคดี 2) ปกป้องและสงวนรักษาโบราณสถาน 3) ช่วยแก้ปัญหาจากสภาพพื้นที่ และ 4) เป็นพื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมความเชื่อของท้องถิ่น

Thesis architecture archeology design archdaily design Kasetsart University awards degree show

การศึกษาวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่โจทย์แห่งการพัฒนาการวางผังและการออกแบบสถาปัตยกรรม
จัดทำผังสันนิษฐานในอดีตและผังประเมินคุณค่า วิทยานิพนธ์นี้ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่บนภูเขาซึ่งปัจจุบันทำการบูรณะเสร็จแล้ว โดยเสนอให้รื้อฟื้นบันไดทางขึ้นเขาด้านทิศเหนือ และรักษาความสง่างามของแกนโบราณสถานด้วยการสร้างสิ่งก่อสร้างบดบังให้น้อยที่สุด ส่วนพื้นที่ราบด้านล่างทิศตะวันตกนั้น เสนอให้ทำการรื้อฟื้นคลองโบราณบริเวณตีนเขาเพื่อช่วยระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก รวมทั้งทำการขุดค้นโบราณสถาน 5 แห่งไปพร้อมๆกัน

Thesis architecture archeology design archdaily design Kasetsart University awards degree show

กระบวนการออกแบบการสร้าง Phasing ของสถาปัตยกรรมเพื่อส่งเสริมกระบวนการขุดค้น
พื้นที่หลุมขุดค้นทั้ง 5 นั้นได้มีการขุดไปพร้อมๆกับการสร้างพื้นที่เรียนรู้ใต้ดิน โดยพื้นที่เรียนรู้นี้ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่จัดแสดงโบราณสถานที่ขุดค้นพบเป็นชั้นๆในยุคสมัยต่างๆจะทำหน้าที่เป็นส่วนนำให้กับนักท่องเที่ยว ก่อนจะขึ้นไปยังศาสนสถานด้านบนเขา เส้นทางทั้งหมดนี้เชื่อมต่อกันด้วยทางเดิน สลับกับห้องจัดแสดง จุดพักและชมวิว โครงสร้างที่คลุมพื้นที่ขุดค้นนี้เป็นโครงสร้างช่วงกว้าง เปิดให้แสงส่องลงมายังพื้นที่ใต้ดินด้านล่างได้ ตัวโครงสร้างใช้ระบบเข็มพืดชนิดรื้อถอนได้เพื่อทำหน้าที่เป็นกำแพงกันดิน บริเวณด้านที่ติดกับเขานั้นสามารถเป็นทางระบายน้ำในฤดูน้ำหลากและเป็นทางเดินในฤดูแล้งได้อีกด้วย
 Architecture interventions archeology site design awards arch daily degree show university

พื้นที่โดยรวมของการออกแบบอาคารคลุมหลุมขุดค้น
พื้นที่ภายในของอาคารคลุมหลุมนั้น ถูกสร้างเป็นทางเดินภายในในแต่ละส่วนและแบ่งหลุมขุดค้นออกเป็นห้องจัดแสดง 5 ห้องตามหลุมขุดค้นทั้ง 5 แห่งอาคารขุดค้นนั้นถูกคลุมตามลักษณะของผังเดิมของฐานโบราณสถานที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมแบบผังอาคารมณฑปและทำหลังคาใสให้แสงธรรมชาติส่องลงตรงกลาง เพื่อดึงความรู้สึกของการชมโบราณให้ผู้ชมนั้นได้นึกถึงโบราณสถานเดิมที่เคยมีอยู่อย่างยิ่งใหญ่เพื่อเพิ่มอรรถรสให้การชมสถานที่แหล่งโบราณคดี