Home > News & Update
News & Update
05.12.2019
หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์: ต้นแบบการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่ตั้ง: เลขที่ 50 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
สถาปนิก/ผู้ออกแบบ: นาย ศิริชัย นฤมิตรเรขการ
ผู้ครอบครอง: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
ปีที่สร้าง: พุทธศักราช 2497-2500
ปีที่ได้บูรณะ: พุทธศักราช 2555-2556
สถาปนิก/บูรณะ: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ฐิติวุฒิ ชัยสวัสดิ์อารีอาจารย์ศรุติ โพธิ์ไทร, อาจารย์จตุพล อังศุเวช, อาจารย์ชวาพร ศักดิ์ศรี

หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารที่ทรงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ได้รับการบำรุงรักษาและอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีกว่า 60 ปี ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี 2561 ประเภทอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ โดยการพิจารณาของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
conservation unversity architecture เกษตรศาสตร์ หอประชุม สถาปัตยกรรม ซ่อมแซม อนุรักษ์

หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เริ่มการวางศิลาฤกษ์เพื่อก่อสร้างเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2497 โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม สร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2500 เป็นอาคารรูปแบบไทยประยุกต์ ได้รับอิทธิพลตะวันตกในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองระหว่าง ปี พ.ศ. 2475 – พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย (modernization) ลักษณะอาคาร เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,893 ตารางเมตร รูปแบบไทยประเพณีประยุกต์กับวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่ มีความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา เน้นประโยชน์ใช้สอย ลดการประดับประดาหรือตกแต่งด้วยองค์ประกอบที่มีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีแกนสมมาตร และมีการผสมผสานลักษณะของสถาปัตยกรรม ได้แก่ แนวนีโอ-คลาสสิค ที่มีลักษณะสง่าและดูยิ่งใหญ่ตามแบบสากล กับแนวสากลเรียบ หรือ แนวนีโอ-พลาสติก ที่เน้นการจัดองค์ประกอบเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ตรงไปตรงมาและแสดงรูปร่างตามการจัดเส้นสายและระนาบ รวมทั้งแนวไทยประยุกต์ผสมผสาน แนวอาร์ต เดกอ ที่เน้นเส้นสายของแนวเสาควบคู่กับช่องหน้าต่างทางตั้งและรูปปั้นนูนต่ำ ซึ่งเป็นรูปแบบซึ่งเป็นรูปแบบที่นิยมของอาคารสาธารณะและอาคารสถาบันการศึกษา ในช่วงเวลานั้น

หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นอาคารที่เป็นศูนย์รวมและเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ โดยมีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่สำคัญคือ ปี พ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยปลาหมอเทศ บริเวณสระน้ำข้างอาคารหอประชุมเกษตรกลาง และเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2506 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงปลูกต้นนนทรี จำนวน 9 ต้น ณ บริเวณริมสระน้ำด้านหน้าอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และพระราชทานต้นนนทรีให้เป็นต้นไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทรงดนตรีร่วมกับวง อ. ส. วันศุกร์ ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์และศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัย สืบเนื่องอีก 9 ครั้งระหว่างปี พ.ศ. 2506- พ.ศ.2515 การใช้สอยของอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในอดีต ใช้เพื่อเป็นสถานที่รับพระราชทานปริญญาบัตร ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2519 ต่อมาได้มีการปรับปรุงต่อเติมพื้นที่อาคารเพื่อใช้ประโยชน์อื่นๆเป็นครั้งคราว มีการใช้งานอยู่อย่างต่อเนื่องในลักษณะห้องบรรยายสำหรับการเรียนการสอน ห้องประชุมขนาดใหญ่ และห้องพิธีการ ซึ่งทำให้อาคารมีความชำรุดเสียหายจากการขาดการดูแลรักษาที่ถูกต้องและการต่อเติมกั้นห้องเรียนและเพิ่มเติมงานระบบต่างๆ รวมถึงการเสื่อมสภาพของวัสดุอาคาร
ในช่วงปี พ.ศ. 2555- พ.ศ.2556  มีการบูรณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมที่ชำรุดและปรับปรุงให้เหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน โดยมีการซ่อมแซมหลังคาและมุงกระเบื้องใหม่ ซ่อมแซมและตกแต่งพื้นที่ภายในอาคารทั้งหมด เปลี่ยนระบบปรับอากาศให้มีประสิทธิภาพในการใช้งาน และการบูรณะศิลปกรรมลายปูนปั้นที่เสื่อมสภาพ
 
conservation unversity architecture เกษตรศาสตร์ หอประชุม สถาปัตยกรรม ซ่อมแซม อนุรักษ์

conservation unversity architecture เกษตรศาสตร์ หอประชุม สถาปัตยกรรม ซ่อมแซม อนุรักษ์
 
แนวทางในการอนุรักษ์อาคารหอประชุม ก่อนการบูรณะและช่วงการดำเนินการบูรณะ
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีนโยบายจัดทำแผนแม่บท การพัฒนากายภาพวิทยาเขตบางเขนในการปรับปรุงอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีลักษณะทรุดโทรม มีการชำรุดเสียหายขององค์ประกอบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรม และมีข้อจำกัดในการใช้งานอาคารอันเกิดจากระบบอาคารที่เสื่อมสภาพ ให้กลับมาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถคงลักษณะองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์หรือคล้ายคลึงกับลักษณะเดิมเมื่อแรกสร้าง ในวงเงินงบประมาณ 58 ล้านบาท
 
ก่อนการบูรณะ
การตรวจสภาพอาคารก่อนการอนุรักษ์ โดยสำรวจสภาพอาคารปัจจุบัน เปรียบเทียบกับแบบก่อสร้างเดิมเมื่อแรกสร้างและแบบปรับปรุงที่ผ่านมา จากนั้นทำการประเมินความสำคัญและระดับความเสียหายขององค์ประกอบอาคารเพื่อแบ่งระดับความเร่งด่วนของการดำเนินการอนุรักษ์ โดยแบ่งความเร่งด่วนของการดำเนินการอนุรักษ์ออกมาเป็น 3 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1: ซ่อมแซมโครงสร้างหลังคาและลายปูนปั้นประดับหลังคา
ระดับที่ 2: ปรับปรุงระบบอาคารเพื่อติดตั้งระบบปรับอากาศและปรับปรุงระบบโครงสร้างอาคารภายใน เช่น การติดตั้งลิฟต์
ระดับที่ 3: ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัสดุ ปรับปรุงซ่อมแซมองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายในอาคาร รวมทั้งปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารเพื่อการใช้งานและสุรทรียภาพ
 
ช่วงการบูรณะ
เป็นการบูรณะสถาปัตยกรรมที่ชำรุดเสียหาย และปรับปรุงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอื่นๆ อาทิ การดัดแปลงโครงสร้างอาคารเฉพาะส่วนเพื่อติดตั้งลิฟต์โดยสาร การระบุตำแหน่งการปรับอากาศและแยกส่วนการใช้พลังงาน การติดตั้งระบบความปลอดภัยต่างๆ การปรับปรุงช่องเปิด และทางเข้าด้านหน้า (ในส่วนของพื้น ผนัง จั่ว3มุข และกันสาด) ทั้งในแง่ของวัสดุ เทคนิคของงานวิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมหรือมีผลกระทบน้อยที่สุด โดยไม่ทำลายรูปลักษณ์ภายนอก
 
โดยเมื่อบูรณะเสร็จ การใช้งานอาคารหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะเป็นที่รองรับกิจกรรมและพิธีการในกิจการของมหาวิทยาลัย ประกอบด้วย ห้องประชุมใหญ่ 500 ที่นั่ง ห้องพิธีการและจัดเลี้ยง ห้องประชุมระดับบริหาร ห้องรับรองเสด็จฯ และที่ประทับพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนจัดแสดงนิทรรศการ ทั้งนิทรรศการถาวร (หอประวัติ) และนิทรรศการหมุนเวียนในกิจการเผยแพร่ผลงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และยังใช้เป็นที่จัดกิจกรรมนันทนาการและสนทนาการในวันสำคัญต่างๆ ทั้งในส่วนอาคารและพื้นที่โดยรอบ
 
conservation unversity architecture เกษตรศาสตร์ หอประชุม สถาปัตยกรรม ซ่อมแซม อนุรักษ์