Home > News & Update
News & Update
15.12.2019
สถาปัตยกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานก่อสร้าง
Architecture for Construction Workers’ Better Livings

architecture kasetsart university tcas สถาปัตย สถาปัตยกรรม เกษตรศาสตร์ รางวัล ออกแบบ สอบ เรียน

“ทุกวันนี้ หากเราได้ใช้ชีวิตแบบคนเมืองในกรุงเทพมหานครแล้วลองมองไปรอบตัว เราจะเห็นทาวเวอร์เครนจำนวนมากตั้งสูงเหนือบ้านเรือน พร้อมด้วยผนังเมทัลชีทสูง 6 เมตรที่ล้อมพื้นที่ตรงนั้นไว้ กระจายอยู่ทั่วทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเส้นทางรถไฟฟ้าหลากหลายสาย และส่วนใหญ่บริเวณเหล่านั้นก็คือ “พื้นที่ก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่หรือโครงการคอนโดมิเนียมนั่นเอง” นับวัน การก่อสร้างอาคารประเภทนี้มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เบื้องหลังผนังเมทัลชีทที่ปิดกั้นจากสภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้เราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า ภายในนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้าง ทั้งที่อยู่ใกล้กับเรามากขนาดนี้ รู้แต่เพียงว่า การมีพื้นที่ก่อสร้างจำนวนมากในปัจจุบัน(และอนาคต) จะต้องมีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน และในมุมของชีวิตคนงานก่อสร้างเช่นกัน ประชากรเกือบพันชีวิตในแต่ละโครงการ พวกเขาใช้ชีวิตกันอย่างไร และมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ คำถามดังกล่าว ล้วนเป็นชนวนที่ทำให้เกิดความสนใจอย่างยิ่งที่จะทำอะไรบางอย่างผ่านผลงานวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ให้เกิดประโยชน์ไม่มากก็น้อย ไปพร้อมกับสถานการณ์การก่อสร้างคอนโดนิเนียมในบ้านเราที่คงจะเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต”
 
architecture kasetsart university tcas สถาปัตย สถาปัตยกรรม เกษตรศาสตร์ รางวัล ออกแบบ สอบ เรียน

ในกระบวนการทำวิทยานิพนธ์ที่ได้มีการเข้าไปศึกษาพื้นที่ก่อสร้างคอนโดนิเนียมขนาดใหญ่ 3 โครงการในกรุงเทพฯและปริมณฑล (ทั้งที่ตั้งอยู่ในเมืองและชานเมือง ครอบคลุมระบบการก่อสร้างทั้งแบบหล่อกับที่และสำเร็จรูป) และได้ทำการศึกษาเนื้อหา 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) ระบบและขั้นตอนการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่ 2) วิถีชีวิต ความต้องการ จำนวน และระบบสังคมของคนงานก่อสร้างทั้งชาวไทยและต่างด้าว และ 3) สภาพทางกายภาพและปัญหาของบ้านพักคนงานในปัจจุบัน โดยมีการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์คนงานก่อสร้าง หัวหน้าคนงาน ผู้จัดการโครงการ วิศวกรคุมงาน ในแต่ละโครงการ และทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดโจทย์และทิศทางในการออกแบบสถาปัตยกรรม

ความเข้าใจดังกล่าวนี้นำไปสู่การกำหนดขอบเขตของงานภายใต้กรอบ “การออกแบบบ้านพักคนงานภายในพื้นที่ก่อสร้างโครงการ สำหรับโครงการที่ใช้ระบบการก่อสร้างแบบสำเร็จรูป (Prefabrication system)” เนื่องจากพบว่า ระบบการก่อสร้างนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายและเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งจำนวนคนงานที่น้อยสามารถเอื้อให้การสร้างบ้านพักคนงานภายในพื้นที่ก่อสร้างโครงการเกิดขึ้นได้ เป็นการช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่เพื่อสร้างบ้านพักคนงานที่อยู่ไกลออกไป ลดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง รวมทั้งลดภาระความเสี่ยงในการดูแลคนงานลง วิทยานิพนธ์นี้จึงได้เลือกพื้นที่ก่อสร้างของโครงการ Unio H ติวานนท์ มาเป็นพื้นที่ในการทดลองออกแบบทางสถาปัตยกรรม
 
architecture kasetsart university tcas สถาปัตย สถาปัตยกรรม เกษตรศาสตร์ รางวัล ออกแบบ สอบ เรียน

แนวคิด “สถาปัตยกรรมยืดหยุ่น” เป็นหัวใจสำคัญของการออกแบบสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ ที่สามารถตอบโจทย์กับชุดข้อมูลและปัญหาที่ซับซ้อนในหลายมิติ เช่น ข้อกำหนดทางกฎหมายเรื่องสถาปัตยกรรมชั่วคราว การตอบรับกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย ความยืดหยุ่นในการเพิ่มและลดจำนวนห้องพักได้ตามช่วงเวลาของการก่อสร้างโครงการ การปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ในหลายประโยชน์ใช้สอย การติดตั้ง รื้อถอน ขนย้ายได้สะดวกและรวดเร็ว ราคาที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับรูปแบบเดิม และความคงทนและคุ้มค่าของการใช้งานในระยะยาว เป็นต้น

“ยูนิตแบบพับและโครงสร้างระบบรางเลื่อน” ได้ถูกออกแบบขึ้นภายในพื้นที่ก่อสร้างบริเวณพื้นที่ระยะถอยร่น 6 เมตรโดยรอบของโครงการ ผลงานออกแบบนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรกเป็นโครงสร้างระบบรางเลื่อน ซึ่งนอกจากจะทำหน้าเป็นโครงสร้างที่ยึดยูนิตห้องพักเข้าด้วยกันแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันฝุ่นควัน เสียง และป้องกันวัตถุอันตรายจากพื้นที่ก่อสร้างอาคารให้กับเพื่อนบ้านข้างเคียงได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบท่อน้ำบริเวณโครงสร้างหลัก สำหรับฉีดพ่นละอองน้ำให้กับพื้นที่ก่อสร้างเพื่อลดฝุ่นควัน PM2.5 และ PM10 ในระหว่างวันอีกด้วย ส่วนที่ 2 คือ ยูนิตห้องพักด้านในซึ่งถูกออกแบบให้สามารถพับเก็บได้ เพื่อประหยัดพื้นที่ในการเก็บและขนส่ง และเคลื่อนย้ายผ่านระบบรางที่ปรับล็อคได้ ทำให้สามารถขยับตำแหน่งและเพิ่มลดจำนวนห้องพักได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ยูนิตนี้สามารถรองรับการใช้งานทั้งการพักอาศัย โรงอาหาร โรงครัว ห้องน้ำสำเร็จรูป โรงเรียนสำหรับลูกคนงาน สวนครัว และพื้นที่พักผ่อนในชีวิตประจำวัน

architecture kasetsart university tcas สถาปัตย สถาปัตยกรรม เกษตรศาสตร์ รางวัล ออกแบบ สอบ เรียน

นอกเหนือจากการออกแบบรูปลักษณ์ทางกายภาพและระบบการใช้งานแล้ว ยังได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณมิติของโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้เกิดความแข็งแรงเพียงพอ ประหยัดวัสดุ และคุ้มทุนมากที่สุด รวมทั้ง ยังได้ทำการเปรียบเทียบและคัดเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติและราคาที่เหมาะสมในชิ้นส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดภาวะน่าสบายในการอยู่อาศัย และท้ายที่สุด ได้ทำการเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตระหว่างบ้านพักของคนงานรูปแบบเดิม ซึ่งใช้ตู้คอนเทนเนอร์ และรูปแบบใหม่ที่ออกแบบนี้ ซึ่งได้ข้อสรุปว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการไปได้ถึงร้อยละ 50
ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมชิ้นนี้เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างที่ให้ความใส่ใจต่อสวัสดิภาพและสวัสดิการในการอยู่อาศัยของคนงานก่อสร้าง โดยมีฐานที่คิดที่ว่า หากคนงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมจะมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ วิทยานิพนธ์นี้ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปพัฒนาใช้ได้จริง โดยได้พิสูจน์แล้วว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาว อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งคนงานก่อสร้าง ผู้ประกอบการ และเพื่อนบ้านโดยรอบอีกด้วย
 
หมายเหตุ  ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในวิทยานิพนธ์นี้ได้รับความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญา จากกรมทรัพย์ทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว