Home > News & Update
News & Update
05.01.2021
แนวคิดและการพัฒนาแบบขั้นสุดท้ายกับ 'The Lam Mueang of Bangkok'
นิสิตชั้นปีที่ 5 ภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ได้รางวัลที่ 2 การประกอบแบบ ASA Experimental Design Competition 2020: Everyday Heritage ประเภทบุคคลทั่วไปในผลงาน 'The Lam Mueang of Bangkok' โดย นางสาวนงนภัส แสนรักษ์ และ นางสาวกานต์ธิดา วีระสัย โดยนิสิตทั้งสองได้มาแบ่งปันเล่าถึงประสบการณ์ ความเป็นมาของแนวคิด และการพัฒนาแบบขั้นสุดท้ายให้ทุกคนได้ฟัง

สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการประกวดแบบได้ที่: https://www.asacompetition.com/2021-award-entries
 


Q: แนะนำตัวเองซักเล็กน้อยครับ
A: ชื่อนางสาวนงนภัส แสนรักษ์ ชื่อเล่นชื่อนัท กับนางสาวกานต์ธิดา วีระสัย ชื่อเล่นชื่อกานต์ เรียนอยู่ชั้นปีที่ 5 ภาควิชาสถาปัตยกรรมค่ะ
 
Q: ประกวดแบบนี้มีที่มาอย่างไร?
A: ตอนนั้นพวกเราอยู่ปี4 ช่วงเทอม2ค่ะ ลงวิชาเลือกภายในคณะซึ่งเป็น workshop ที่ต้องไปทำงานร่วมกับ คณะสถาปัตย์ของมหาวิทยาลัยที่เกาหลีแห่งหนึ่ง แต่โชคร้ายที่ต้องมาโดนยกเลิกเพราะโควิดก่อนบินเพียงแค่ไม่กี่วัน ในความเป็นจริงตอนนั้นเราก็เตรียมพร้อมกันทุกอย่างแล้ว ทั้ง research/analysis (หรือแม้แต่ทั้ง costume เอย แผนเที่ยวอะไรต่างๆ) วิชานี้ก็เลยเปลี่ยนจากการไปทำ workshop ให้เป็นการทำประกวดแทน โดยอาจารย์ได้เลือกหัวข้อ Heritage in Everyday Life มา ช่วงนั้นทุกอย่างต้องเปลี่ยนไปเป็น online พวกเรายังงงๆปรับตัวไม่ค่อยได้ ใช้ชีวิตกันเปื่อยๆ บรรยากาศเนือยๆ อาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการเกาหลีที่ต้องเปลี่ยนมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการประกวดแบบก็เลย cheer up (อย่างหนัก) ให้เราจริงจังกับการส่งประกวดแบบครั้งนี้ดูมากกว่าแค่ที่จะทำเพื่อให้ได้เกรดจากรายวิชา (ซึ่งก็ได้ผลค่ะ จริงจังกันขึ้นมานิดนึง)
 


Q: แนวคิดในการประกวดแบบมีที่มาจากไหน?
A: คือตอนแรกก็คุยๆกันว่า Everyday Heritage พวกเราสนใจอะไรกันจะทำเกี่ยวกับอะไรดี (วนไปวนมาอยู่นานมาก) อาจารย์เลยแนะนำให้เริ่มจากประเด็นที่เราสองคนชอบเป็นพิเศษก็ได้ งานที่ออกมาจะได้มีลักษณะเฉพาะ มีความเป็นตัวของตัวเอง ตอนนั้นกานต์ก็พูดขึ้นมาขำๆว่า “นัทชอบกินผักบุ้งมาก กินเมนูเดิมๆทุกวัน ต้องผักบุ้งสดๆด้วยนะ” อาจารย์ก็พูดขึ้นมาว่า “เอ่ออันนี้ก็น่าสนใจ” ตอนนั้นก็งงๆอยู่ พวกเราก็เลยลองเริ่มคุยกันว่าถ้าทำเรื่องพืชผักสวนครัวจะพอไปได้มั้ย เพราะจริงๆแล้วเรื่องพืชผักก็เป็นอาหาร เป็นสิ่งรอบตัวที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน พวกเราเลยลองพยายามที่จะหาระบบและวิธีการที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืชผัก (เพราะจะได้มีผักสดๆกิน) หลังจากนั้นจึงมาดูเรื่องระบบที่จำเป็นกับการปลูกผักเช่นระบบน้ำ เพราะระบบน้ำเองก็เป็นพื้นฐานในวิถีชีวิตของคนไทยมาตั้งแต่อดีต พวกเราทดลองออกแบบพื้นที่ปลูกผักโดยใช้น้ำฝนผนวกพื้นที่นี้เข้าไปกับร้านก๋วยเตี๋ยวหรือร้านอาหารตามสั่งต่างๆ (เพราะจินตนาการว่าก๋วยเตี๋ยวควรจะต้องมาพร้อมกับผักบุงสดๆ) ผลลัพธ์ก็ได้ออกมาเป็น prototype พื้นที่ปลูกผักที่แปะอยู่บนหลังคาซึ่งมันก็ยังดูไม่น่าจะใช้การได้เท่าไหร่เลย
 
Q: ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมอย่างไร?
A: จาก scheme แรกที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะดูเหมือนเป็นการยัดเหยียดพื้นที่ปลูกผักเข้าไปกับสถาปัตยกรรมมากเกินไป(ฝืนสุดๆ) หลังจากนั้นก็เลยศึกษาความเป็นไปได้อื่น เริ่มมองหาจากอะไรที่มีอยู่แล้วเพื่อจะนำมาพัฒนา scheme ของเราต่อไปก็เริ่มมีแนวคิดเกี่ยวเนื่องกับเรื่องระบบน้ำในกรุงเทพซึ่งมันก็ใกล้ตัวพวกเรามากๆ
 


Q: พัฒนาแนวคิดในการประกวดแบบอย่างไร?
A: ระบบน้ำในกรุงเทพที่พวกเราสนใจคือ “ระบบระบายน้ำ” (พวกท่อน้ำทิ้ง) ในความจริงมันเป็นระบบที่มีศักยภาพอยู่ในตัวของมันเอง เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตรอบตัวพวกเราทุกคน แต่เราอาจจะยังไม่ค่อยตระหนักถึงศักยภาพ หรือมีอะไรบางอย่างที่บดบังศักยภาพของมันอยู่ (ซึ่งจะเล่าต่อไป) สมมติว่าถ้าเราเอาแนวคิดเรื่องพื้นที่ปลูกผักของเรามาผนวก ระบบระบายน้ำของกรุงเทพจะได้ไม่ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ระบบระบายน้ำอย่างเดียว ปัญหาที่มาบดบังศักยภาพของระบบระบายน้ำในปัจจุบันมันรวมการระบายน้ำฝนกับการระบายน้ำเสียเข้าด้วยกัน พวกเรามองว่ามันเป็นการเสียประโยชน์มากๆ เพราะเป็นการทำให้น้ำดีหรือน้ำฝนกลายไปเป็นน้ำเสีย ถ้าเราสามารถแยกน้ำฝนกับน้ำเสียออกจากกันและเปิดพื้นที่ในส่วนของท่อระบายน้ำฝนให้ได้รับแสงธรรมชาติ ก็จะสร้างความเป็นไปได้ที่จะเกิดพื้นที่ที่ปลูกพืชผักสวนครัว หรือมีพืชผักที่สามารถเจริญเติบโตได้เอง สามารถตอบสนองต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ (อาหารไทยเราก็ต้องการผักเยอะ) และยังจะเป็น cultural landscape ของเมืองได้อีกด้วย ข้อเสนอในการออกแบบของเราจึงเป็นการดัดแปลง (modify) ท่อระบายน้ำค่ะ หลังจากกำหนดแนวทางของ scheme ได้แล้ว อาจารย์แนะนำพวกเราไปให้หาความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิคด้วย (ทำอย่างไร) พวกเราเลยเสนอแบบดัดแปลงท่อระบายน้ำใน scenario ต่างๆ
 
Q: ตอนส่งประกวดแบบมีความคาดหวังอย่างไร?
A: ถ้าจะตอบว่าไม่คาดหวังเลยก็อาจจะเป็นการพูดเกินจริง ความจริงก็แอบหวังสูงกันอยู่ค่ะ (พวกเรามีเงินรางวัลเป็นแรงขับเคลื่อน) เพราะพวกเราก็ใช้เวลาลงแรงกับงานนี้ประมาณผลงานนี้พอสมควร final product ก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจของเรา (น่ารักอะเฮ้ออน่าร้ากอ้าาา) ถ้าไม่มีใครชมพวกเราก็ชมกันเองเป็นการสร้างกำลังใจ
 


Q: รู้สึกอย่างไรหลังจากที่ได้รางวัล?
A:  โห ก็ช็อคกันมากอยู่ทั้งคู่เลยค่ะ ก็เหวอๆงงๆ คุ้มค่ากับที่ฝ่าดงโควิดออกไปนั่งทำงานด้วยกัน ถึงตรงนี้ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษามากๆที่คอยผลักดันและแนะนำเราสองคนให้มีแรงขับเคลื่อน
 
Q: อยากฝากอะไรถึงน้องๆบ้าง?
A: เอาจริงๆถ้าตัวขี้เกียจอย่างเราสองคนทำได้ก็ไม่เห็นว่าจะมีใครทำไม่ได้แล้วนะ (ฮ่าๆ)  You can do it!!