Home > Design & Research
Design & Research
01.10.2020
การศึกษาและพัฒนากระบวนการสื่อความหมายมรดกวัฒนธรรมประเภท บ้านเก่า เรือนโบราณ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม: กรณีศึกษาเมืองเก่านครลำปาง
ทุนวิจัยเพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ (สวพ.มก.)

ผู้วิจัยหลัก
Patiphol YODSURANG, Ph.D.

ในเขตเมืองเก่านครลำปางมีบ้านเก่า เรือนโบราณหลายแห่งเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็น “พิพิธภัณฑ์บ้านเสานัก” เรือนไม้สักที่มีเสาไม้สักขนาดใหญ่ถึง 116 ต้นที่เป็นสัญลักษณ์ของกิจการค้าไม้ที่รุ่งเรืองของนครลำปางในอดีตที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าชมได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.  2535 กระทั่ง พ.ศ. 2548 บ้านเสานักได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในประเภทเคหสถานบ้านเรือนเอกชน กลุ่มเรือนประวัติศาสตร์ริมถนนย่านกาดกองต้า อาทิ “อาคารหม่อง งวย สิน” “อาคารฟองฟลี” “บ้านแม่แดง” “บ้านคมสันต์” “บ้านสินานนท์” ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของชุมชนการค้าริมน้ำในอดีตที่กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากกิจกรรมการค้าแบบดั้งเดิมซบเซา ด้วยการจัดกิจกรรมถนนคนเดิน มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548  คุณค่าของอาคารประวัติศาสตร์ของตลาดจีน-บ้านพม่าปรากฎขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง การอนุรักษ์สภาพอาคารร้านค้าในอดีต ที่ยังคงรักษาองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นป็นเอกลักษณ์ ผสมผสานกับสัมภาระทางวัฒนธรรมตามเชื้อสายของผู้เป็นเจ้าของที่ปลูกสร้างเป็นที่อยู่อาศัยและประโยชน์ในการค้า แสดงให้ถึงสามารถในเชิงศิลปะและความรุ่งเรืองในอดีตเป็นที่ประทับใจแก่ผู้มาเยือน หรือกระทั่งกรณีของ “บ้านหลุยส์” ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปีแห่งในเขตป่าไม้ของ มร. หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ที่เป็นเรือนปั้นหยาสองชั้นที่ถูกทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่คอยเล่าเรื่องราวในอดีตแก่ผู้มาเยือน
 
คุณค่าของอาคารและกลุ่มอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นั้นไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นผ่านลักษณะทางกายภาพแต่เพียงเท่านั้น ยังรวมถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ของทุกองค์ประกอบด้วย ในฐานะผลงานอันมีลักษณะเฉพาะของเทคโนโลยีก่อสร้างแห่งยุคสมัยอาคารและซากปรักหักพังของมันสามารถสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงบางประการทางประวัติศาสตร์  ซึ่งเป็นหลักฐานแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวทั้งทางตรงและทางอ้อมของอารยธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าสถาปัตยกรรมเป็นภาษาที่มีชีวิตที่สามารถทำความเข้าใจได้โดยแม้ว่าไม่มีความรู้ทางเทคนิครายละเอียดมากมายนัก นั่นทำให้สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อความหมายหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการนำเสนอสู่สาธารณะ
 
ด้วยเหตุนี้สถาปัตยกรรมจึงเป็นมากกว่าสถานที่สำหรับพักอาศัย ข้อมูลจำนวนมากถูกรับรู้ด้วยการมองเห็นจากองค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรม โดยพื้นฐานแล้วผู้มาเยือนสามารถรับรู้ข้อมูลดังกล่าวโดยตรงด้วยตัวเองจากรูปร่าง  รูปทรง  พื้นผิว และที่ว่างที่เกิดขึ้นในงานสถาปัตยกรรมและองค์ประกอบทั้งหลาย ซึ่งในการสื่อความหมายทางสถาปัตยกรรมนั้น ที่ว่างนั้นเปรียบเหมือนสื่อกลางซึ่งช่วยนำทางให้เราเข้าใจได้ถึงรายละเอียดและความหมายของสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน “ที่ว่าง” จึง เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญชิ้นหนึ่งซึ่งสถาปนิกนักออกแบบเลือกใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่น แม้ในทางทฤษฎีสามารถสร้างภาพของการเชื่อมโยงกับคุณค่าขององค์ประกอบทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวมได้ อย่างไรก็ดีผู้มาเยือนทั่วไปนั้นแทบไม่สามารถทำความเข้าใจงานสถาปัตยกรรมและบริบทของมันโดยปราศจากพื้นฐานความรู้ในแขนงนั้น ๆ ดังนั้นในการออกแบบโครงการและบริการการสื่อความหมายจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรู้และความรู้สึกร่วมถึงคุณค่าและการมีอยู่ขององค์ประกอบของงานสถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมจะทำหน้าที่เป็นดังเช่นสนามเด็กเล่นเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สนุกกับมันเพื่อส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มาเยือนและแหล่งมรดกวัฒนธรรม ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสบการณ์การเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งยังเป็นการสร้างแรงจูงใจในการมาเยือนซ้ำอีกด้วย