Home > Design & Research
Design & Research
01.10.2020
การทบทวนความเข้าใจในเรือนพื้นถิ่น “ชาวเขา” ในประเทศไทยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม: กรณีศึกษาเรือนชาวเมี่ยนในเขตหุบเขาภูลังกา
ทุนวิจัยเพื่อพัฒนานักวิจัยรุ่นใหม่ (สวพ.มก.)

ผู้วิจัยหลัก:
อ.ดร.สุชล มัลลิกะมาลย์

tcas vernacular architecture kasetsart university silpakorn university master phd study

ชาวอิวเมี่ยนเป็นกลุ่มวัฒนธรรมที่ก้าวข้ามเส้นเขตแดนของรัฐ (trans-regional) ตั้งถิ่นฐานตั้งแต่จีนตอนล่าง, เวียดนาม, สปป. ลาว, จนถึงไทยรูปแบบเรือนของพวกขามีความเหมือนหรือแตกต่งทันหรือไม่ และอะไรทำให้เป็นเช่นนั้น?

ภูลังกา ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบล ผาช้างน้อย อำเภอปง จังหวัดพะเยา เป็นพื้นที่รอยต่อกับจังหวัดน่าน พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ของการตั้งถิ่นฐานของชาวเมี่ยนที่สำคัญเนื่องจากเคยเป็นอาณาเขตการปกครองของผู้นำเมี่ยนที่รับแต่งตั้งเป็น “พญา” จากเจ้าเมืองน่าน “พญาคีรีศรีสมบัติ” (ชื่อเดิม “ตั้ง จั่น ควร”) ความสำคัญของพื้นที่ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ได้ดึงดูดนักสำรวจ และ นักมานุษยวิทยาหลายท่านให้เข้ามาลงพื้นที่เก็บข้อมูล อาทิเช่น บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ในช่วง 1950; Hans Manndorff ในช่วง 1961-65; Douglas Miles ในช่วงปี 1966-67; และยังมีกลุ่มของ Jane R Hanks และ Lucien M. Hanks ในช่วงปี 1963-64, 1968-1969, และ 1973-74  ถึงแม้กลุ่มของ Hanks จะไม่ได้ลงพื้นที่บริเวณภูลังกาโดยตรง แต่ได้ทำการสำรวจเก็บข้อมูลอย่างเชิงลึกในพื้นที่ อ.แม่จัน, จังหวัดเชียงราย ซึ่งการศึกษาของกลุ่ม Hanks นี้ส่งผลถึงนักมานุษยวิทยากลุ่มอื่นที่กล่าวมาข้างต้น จากที่กล่าวมา ข้อมูลที่ถูกเก็บในช่วง 1950 – 1970 จึงเป็นชุดข้อมูลที่มีความสำคัญมาก เพราะถูกใช้เป็นหลักฐาน ในการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมอิ้วเมี่ยนในการศึกษายุคต่อมา

อย่างไรก็ตาม ระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกใช้ในช่วงปี 1950-1970 ยังค่อนข้างมีความจำกัด เพราะมีทิศทางหลังอยู่เพียง 2 ทางคือ ก) ทิศทางการให้น้ำหนักทางชาติพันธุ์วรรณาหรือ การหาลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม และ ข) มานุษยวิทยาประยุกต์ (Applied anthropology) ที่ใช้หลักการทางมานุษยวิทยามาแก้ปัญหาการเมืองและสังคม ซึ่งในบริบทนี้ของช่วงปี 1950 – 1970 ปัญหาดังกล่าวคือ การทำไร่เลื่อนลอย การปลูกฝิ่น เป็นต้น โดยภาพรวม เนื้อหาและความสนใจของนักมานุษยวิทยากลุ่มนี้ที่ปรากฏในรายงานการศึกษาพอจะสรุปประเด็นได้ดังต่อไปนี้ 1) การจัดการครัวเรือนระบบเครือญาติ 2) พิธีกรรมและความเชื่อ 3) การทำไร่เลื่อนลอย การเพิ่มขึ้นของประชากร การย้ายถิ่นฐานตามที่ทำกิน รวมถึงปัญหาในเชิงเกษตรกรรม

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องสถาปัตยกรรมอาคารที่พักอาศัย เกี่ยวพันกับประเด็นศึกษาในหัวเรื่องทั้ง  3 นี้ทั้งสิ้น แม้จะไม่ใช่แกนหลักของคำถามในการวิจัย แต่ก็มีความเชื่อมโยง และถูกกล่าวถึงหรือให้ภาพอยู่อย่างสม่ำเสมอในงานเขียนของนักวิจัยกลุ่มนี้ เพียงแต่ยังขาดการอภิปรายลงลึก การมองในมุมชาติพันธุ์วิทยาที่ให้ภาพกว้างมากกว่าการศึกษาเชิงแบบแผนของอัตลักษณ์ ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปทบทวน และเชื่อมโยงบริบททางการเมืองและสังคมเข้ากับข้อมูลเชิงสถาปัตยกรรมที่บันทึกได้ในงานสำรวจ และงานภาคสนามในขณะนั้น เช่น สภาวการณ์ที่การตั้งถิ่นฐานนี้เกิดขึ้น หรือเรือนหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมีสภาวการณ์แบบใด ขณะนั้นมีสงครามหรือเป็นภาวะหลังสงครามหรือไม่? ความสัมพันธ์กับกลุ่มคนบนที่สูงด้วยกันเอง หรือ พื้นราบเป็นอย่างไร?

วิธีการทบทวนความเข้าใจในประวัติศาสตร์ และการทำความเข้าใจอิทธิพลเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นวิธีหนึ่งที่ใช้กัน คือกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อประโยชน์ในการนิยามความหมาย การอธิบายตัวตน และการสื่อความหมายของกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งต่อสังคมด้วยตัวของกลุ่มวัฒนธรรมนั้นเอง ฉัตรทิพย์ นาถสุภา (1997) ได้กล่าวไว้ว่าสาระของการศึกษาประวัติศาสตร์ลักษณะนี้สอดคล้องกับความนึกคิดของชาวชุมชนรวมทั้งสามารถเข้าถึงคนในชุมชนได้มากขึ้นเนื่องจากเป็นประวัติศาสตร์ที่คนในชุมชนร่วมกันเขียนขึ้นมาเองทั้งยังเกี่ยวพันโดยตรงกับการรื้อฟื้นวัฒนธรรมชุมชนและการพัฒนาโดยเน้นศักยภาพของท้องถิ่น